วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

Postmodern

"Postmodernism"

Portmodern Ecological Art



Postmodernism เป็นถ้อยคำและกรอบความคิดที่ซับซ้อน เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการตั้งแต่กลางปี ๑๙๘๐ Postmodernism มีคำจำกัดความที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะมันเป็นแนวคิดหนึ่งที่ปรากฏในความหลากหลายของกฏเกณฑ์หรือแขนงวิชาการต่างๆ รวมถึงศิลปะ สถาปัตยกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ วรรณคดี สังคมวิทยา สื่อสารมวลชน แฟชั่น และเท็คโนโลยี และยากที่จะระบุช่วงเวลาและประวัติศาสตร์ของมัน เพราะไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามันเกิดขึ้นมาเมื่อใด อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการการเริ่มคิดถึง -postmodernism ก็โดยการคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับความทันสมัย-modernism ความเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเริ่มและขยายความจากความทันสมัย -Modernism มีสองประเด็นหลัก หรือสองแนวทางในคำจำกัดความ ทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในแนวคิด -postmodernism.




ประเด็นแรกหรือคำจำกัดความแรกของ -modernism นั้นมาจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเรื่องสุนทรียศาสตร์ในตราประทับของ "modernism." การเคลื่อนไหวนี้นำไปสูจุดหมายปลายทางของแนวคิดศิลปะตะวันตกของศตวรรษที่ ๒๐ (แม้ว่าร่องรอยจะเริ่มปรากฏในช่วงของศตวรรษที่ ๑๙ ก็ตาม) Modernism นั้น อย่างที่ทราบกัน เป็นการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของแขนงวิชา ทัศนศิลป์ ดนตรี วรรณคดี และการละคอน ซึ่งต่อต้านแนวคิดแบบ Victorian ศิลปะเดิมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ในช่วง "high modernism," ระหว่างปี 1910 ถึง 1930 งานวรรณกรรมในแบบฉบับของ modernism ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงและทบทวน การเขียนโคลงกลอนและนิยายกันใหม่ เช่นผลงานของ Woolf, Joyce, Eliot, Pound, Stevens, Proust, Mallarme, Kafka, และ Rilke ท่านเหล่านี้ถูกจัดเป็นผู้ริเริ่มของวรรณกรรม -modernism แห่งศตวรรษที่ ๒๐.

จากมุมมองทางด้านวรรณกรรม ลักษณะสำคัญของ modernism ประกอบด้วย:


1. เน้นเรื่องความรู้สึกล้วนๆ-impressionism และการเขียนในเชิงนามธรรม (เช่นเดียวกันงานทัศนศิลป์) การเน้นที่เห็น "อย่างไร" (หรือการอ่านหรือการรับรู้ด้วยตัวมันเอง) มากกว่า "อะไร" ที่มองเห็น ตัวอย่างนี้คือ งานเขียนที่เต็มไปด้วยกระแสของจิตที่มีสำนึก (stream-of-consciousness writing)
2. ความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรอบรู้ในการบรรยายของบุคคลที่สาม มุมมองที่เฉพาะเจาะจง และเงื่อนไขทางศีลธรรมที่ชัดเจน เช่น เรื่องราวการบรรยายของ Faulkner เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวเขียนแบบ modernism.
3. ความกำกวมของความแตกต่างระหว่างเรื่องราวที่เคยสามารถอ่านได้จากภาพ กับบทกลอน ที่เพิ่มความเป็นสารคดี (เช่นงานเขียนของ T.S. Eliot ) และบทรอยแก้ว ที่ค่อนไปทางโคลงกลอนมากขึ้น (เช่นงานเขียนของ Woolf หรือ Joyce)
4. เน้นรูปแบบที่แยกออกเป็นส่วนๆ การบรรยายเรื่องราวที่ไม่ต่อเนื่องและการสุมรวมปะติดปะต่อของสิ่งที่แตกต่างกัน
5. โอนเอียงในทำนองการสะท้อนกลับ หรือรู้สำนึกได้ด้วยตัวเอง ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะ เพื่อที่งานแต่ละชิ้นจะได้เรียกร้องความสนใจเฉพาะตามสถานะของการรังสรรค์ในวิธีการที่เป็นพิเศษ
6. รูปแบบทางสุนทรีย์เน้นที่ความน้อยสุด (minimalist designs ..เช่นในงานประพันธ์ของ William Carlos Williams) ส่วนใหญ่ปฏิเสธทฤษฎีสุนทรีย์ศาสตร์ที่เคร่งครัดแบบเดิม สนับสนุนการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการค้นพบด้วยตนเองตามธรรมชาติ
7. ปฏิเสธการแยกเป็นสองขั้ว เช่น สูง และ ต่ำ หรือวัฒนธรรมยอดนิยมเดิมๆ ในการเลือกใช้วัสดุในการผลิตงานศิลปะ และวิธีการนำเสนอ การเผยแพร่ และการบริโภคของงานศิลปะ


Postmodernism มีความคล้ายคลึงกันกับ modernism ตามความคิดที่เหมือนกันเหล่านี้คือ ปฏิเสธเส้นแบ่งระหว่างความสูง-ต่ำในรูปแบบของศิลปะ ปฏิเสธความแตกต่างในความเป็นศิลปวัตถุที่เคร่งครัด เน้นการหลอมรวมกับสิ่งที่คุ้นเคย กำมะลอ การแดกดัน และความขบขัน ในแง่ศิลปะ (และความคิด) ของ Postmodern มักไหลย้อนกลับและมีสำนึกของตนเอง เปราะบางและไม่ต่อเนื่อง (โดยเฉพาะโครงสร้างการบรรยายความ) ขัดแย้ง ในเวลาเดียวกัน และการเน้นรื้อเปลี่ยนโครงสร้าง ย้ายความเป็นศูนย์กลาง ตัดสิทธิ์ความเป็นประธาน แต่..แม้ในความเป็น -postmodernism ดูเหมือนจะคล้ายกับ -modernism ในหลายเรื่อง ความแตกต่างกันอยู่ที่ทัศนะคติในเรื่องนั้นๆ ดังเช่น Modernism โน้มเอียงไปที่ความเปราะบางในแง่ที่เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์และประวัติศาสตร์ (เช่นความคิดในงานประพันธ์เรื่อง The Wasteland ของ Woolf's To the Lighthouse) โดยเสนอว่า ความเปราะบางนั้นเป็นบางสิ่งที่เลวร้าย บางสิ่งที่เป็นความโทมนัสและเศร้าโศรกในความสูญเสีย งานของนักทันสมัย พยายามหยิบยกความคิดของงานศิลปะที่สนองความเป็นเอกภาพ ยึดเหนี่ยว และให้ความหมายในสิ่งที่สูญหายไปในชีวิตสมัยใหม่ ศิลปะจะสนองตอบในสิ่งที่สูญหายในสถาบันของความเป็นมนุษย์ Postmodernism ในทางกลับกัน ไม่เน้นความเปราะบางของโทมนัส สร้างทดแทน หรือไม่เกาะยึดไว้ แต่ค่อนไปทางเฉลิมฉลอง กระทำดังเช่นราวกับว่าโลกไร้ความหมาย? ไม่แสร้งทำให้ดูเหมือนว่าศิลปะสามารถให้ความหมายได้ กลับปล่อยให้เป็นเรื่องเล่นๆที่ไร้สาระ อีกแง่ในการมองความสัมพันธ์ระหว่าง modernism และ postmodernism คือการช่วยให้เกิดความกระจ่างในความแตกต่างบางอย่าง ในทัศนะของ Frederic Jameson, modernism และ postmodernism เป็นการก่อรูปทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิความเป็นทุนนิยม Jameson อ้างสาระสำคัญของวลีสามอย่างของลัทธิทุนนิยม ที่กำหนดความประพฤติทางวัฒนธรรม (รวมศิลปะและวรรณกรรม) เป็นพิเศษคือ สาระแรก เกี่ยวกับตลาดทุนนิยม ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงตลอดศตวรรษที่ ๑๙ ในยุโรปตะวันตก อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา (และปริมณฑลโดยรอบ) ในสาระแรกนี้รวมเอาการพัฒนาทางวิทยาการต่างๆ เช่น เครื่องจักร์ไอน้ำ และลักษณะของสุนทรีย์ศาสตร์พิเศษ ที่เรียกว่า ความจริงแท้ -realism. สาระที่สองเกิดต่อจากศตวรรษที่ ๑๙ จนถึงศตวรรษที่ ๒๐ (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) ในสาระนี้ การถือเอกสิทธิ์ของระบบทุนนิยม ด้วยการรวมตัวกันของเครื่องไฟฟ้าและพลังงานและกับความทันสมัย -modernism ในสาระที่สาม วลีของเขาคือว่า เราเดี๋ยวนี้คือนักบริโภคนานาชาติของระบบทุนนิยม (ที่เน้น การตลาด การขาย การบริโภคแบบรวมซื้อเพื่อขายต่อ ไม่ใช่เพื่อการผลิตก่อนแล้วขาย) รวมกันกับวิทยาการด้านนิวเคลียร์และไฟฟ้า และบรรณสานสัมพันธ์กันเป็น postmodernism ในเวลาเดียวกัน


ดังที่ Jameson บ่งชี้ลักษณะของ postmodernism ในแง่กรรมวิธีของการผลิตและเท็คโนโลยี ปัญหาของคำจำกัดความที่สองของ postmodernism ที่มีมาจากประวัติศาสตร์และสังคม มากกว่าวรรณกรรมหรือประวัติศาสตร์ศิลปะ แนวคิดนี้กำหนด postmodernism ในนามของการเข้าไปก่อรูปของสังคมทั้งหมด กำหนดทัศนะคติของสังคม/ประวัติศาสตร์ ที่ชัดเจน คือแนวคิดนี้ขัดแย้งกันในเชิง ระหว่าง "postmodernity" กับ "modernity" แทนที่จะเป็นระหว่าง "postmodernism" กับ "modernism."


อะไรคือความแตกต่าง? "Modernism" โดยทั่วไปอ้างถึงความเปลี่ยนแปลงทางสุนทรีย์ศาสตร์กว้างๆในศตวรรษที่ ๒๐ ขณะที่ "modernity" อ้างถึงรากฐานทางปรัชญา การเมือง และความคิดด้านจิรยะธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานของความคิดทางสุนทรีย์พื้นฐานของ modernism. "Modernity" มีความเก่าแก่กว่า "modernism" ในการอ้างถึงชื่อ "modern" ประการแรกกำหนดในสังคมวิทยาสมัยศตวรรษที่ ๑๙ หมายถึงความแตกต่างของยุคสมัยปัจจุบันกับยุคสมัยก่อนที่ผ่านมา ซึ่งให้ชื่อว่า "โบราณ-antiquity" นักวิชาการทั้งหลายมักโต้แย้งเมื่อยุค "modern" ที่แน่นอนเริ่มต้น และทำอย่างให้เกิดความแตกต่างระหว่างอะไรที่ทันสมัย และไม่ทันสมัย มันเลยดูเหมือนว่ายุคทันสมัยเริ่มต้นก่อนหน้า ที่นักประวัติศาสตร์จะมองเห็น แต่โดยทั่วไปแล้วยุคของ "modern" จะหมายรวมกันกับยุคพุทธิปัญญาของยุโรป -the European Enlightenment ซึ่งเริ่มคร่าวๆในกลางศตวรรษที่ ๑๘ (นักประวัติศาสตร์บางคนย้อนรอยของพุทธิปัญญานี้กลับไปในสมัยเรเนอร์ซองค์ -Renaissance หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก และบางคนอาจเถียงว่าความคิดของสมัยพุทธปัญญานี้เริ่มต้นในศตวรรษที่ ๑๘ แต่สำหรับข้าพเจ้า (ผู้เขียนบทความนี้) มักกำหนดวันที่ของ "modern" จากปีค.ศ.1750 เพียงเพราะข้าพเจ้าจบการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากโปรแกรมของมหาวิทยาลัย Stanford ที่ชื่อว่า "Modern Thought and Literature," โปรแกรมนี้เน้นที่งานวรรณกรรมหลังปีค.ศ. 1750).


รากฐานความคิดของพุทธิปัญญา -the Enlightenment โดยคร่าวๆ เป็นเช่นเดียวกับรากฐานความคิดของมนุษย์นิยม -humanism บทความของ Jane Flax ให้ข้อสรุปรากฐานของความคิดเหล่านี้ ถือเป็นหลักฐาน (หน้า 41) โดยข้าพเจ้าจะเพิ่มเติมสองสามอย่างในรายการของเธอ


1. มีเสถียรภาพ ติดต่อกันเป็นเรื่องราว รู้ได้ด้วยตนเอง รู้ได้ในจิตสำนึกของตนเอง มีเหตุ-ผล เป็นอิสระ และครอบคลุมกว้างขวาง ไม่เพียงแค่เงื่อนไขทางกายภาพ หรือไม่มีผลกระทบความแตกต่างในเนื้อหาใจความ ที่ตนเองรับรู้ได้
2. การรู้โดยตนเอง และรู้โลกผ่านเหตุผล มีสติ ในสภาพของจิตใจที่ให้ประโยชน์สูงสุดตามภววิสัย
3. วิธีการรู้ เกิดจากวัตถุประสงค์ของความมีเหตุ-ผลแห่งตนที่เรียก "วิทยาศาสตร์" สามารถบ่งบอกความจริงสากลที่เกี่ยวข้องกับโลก โดยไม่ละเลยความเป็นปัจเจกภาพของผู้รู้
4. ความรู้เกิดจากวิทยาศาสตร์คือ "ความจริง" และไม่เป็นที่สิ้นสุด
5. ความรู้/ความจริง เกิดโดยวิทยาศาสตร์ (ด้วยการรู้วัตถุประสงค์อย่างมีเหตุ-ผลด้วยตนเอง) จะนำพาไปสู่ความก้าวหน้าและสมบูรณ์ ในทุกสถาบันและในการปฏิบัติของมนุษย์ สามารถวิเคราะห์ได้จากวิทยาศาสตร์ (ของวัตุประสงค์/เหตุผล) และปรับปรุงได้เสมอ
6. เหตุผลคือ ผู้ตัดสินสูงสุดว่าอะไรเป็นความจริง อะไรที่ถูกต้อง และอะไรที่ดี (อะไรที่ถูกกฏหมายและอะไรที่มีคุณธรรม) อิสระภาพประกอบด้วยความเชื่อฟังในกฏเกณฑ์ที่ตรงกันกับความรู้ที่ค้นพบด้วยเหตุผล
7. ในโลกที่ปกครองด้วยเหตุผล ความจริงจะเป็นเช่นเดียวกับความดีและความถูกต้อง (และความงาม) จะไม่ขัดแย้งกันระหว่างอะไรเป็นความจริงกับอะไรเป็นความถูกต้อง (ฯลฯ)
8. วิทยาศาสตร์ เช่นนี้..ถือเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่เป็นประโยชน์สำหรับความรู้ต่างๆของสังคม วิทยาศาสตร์เป็นกลางและเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ผู้ผลิตความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยความสามารถที่ไม่มีอคติ ต้องมีอิสระในการเจริญรอยตามหลักเกณฑ์ของเหตุผล ไม่ถูกชักจูงด้วยสิ่งอื่น (เช่น เงินหรืออำนาจ)
9. ภาษา หรือวิธีการแสดงออก ใช้ประโยชน์ในการนำเสนอและเผยแพร่ความรู้ ต้องมีเหตุ-ผลด้วย การมีสติในเหตุ-ผลนั้น ภาษาต้องโปร่งใส ใช้ประโยชน์เพื่อแทนโลกที่รับรู้จริงๆด้วยการสังเกตุของจิตใจที่มีสติสัมปชัญญะ ต้องมั่นคงและเป็นภววิสัยเชื่อมวัตถุที่รับรู้กับโลกเข้าด้วยกันด้วยบัญญัติ (ระหว่างสัญลักษณ์และผู้กำหนด)


มีบางหลักฐานที่เป็นบรรทัดฐานของความเป็นมนุษย์ หรือของความทันสมัย- modernism ซึ่งมันช่วยในการบอกกล่าว ตัดสินและอธิบายโครงสร้างสังคมและสถาบันได้อย่างแท้จริง รวมทั้งประชาธิปไตย กฏหมาย วิทยาศาสตร์ จริยศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

มรดกโลก "เมืองบรูจส์" ประเทศเบลเยียม


บรูจส์เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย เพราะบรูจส์เป็นเมืองที่มีบรรยากาศโรแมนติกและมีภูมิประเทศที่สวยงามรวมไปถึงตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ทำให้บรูจส์ยิ่งมีเสน่ห์และน่าหลงใหลมากยิ่งขึ้น

ที่ตั้ง บรูจส์ (Brugge หรือ Bruges) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของ West Flanders ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเบลเยียม ศูนย์ประวัติศาสตร์ของเมืองได้รับเลือกให้เป็นเมืองในมรดกโลกของยูเนสโก ตัวเมืองรูปไข่มีเนื้อที่ประมาณ 430 เฮกตาร์ เนื้อที่ทั้งหมดของตัวเมืองมีประมาณกว่า 13,840 เฮกตาร์รวมทั้งอีก 1,075 เฮกตาร์ริมฝั่งทะเลที่เซบรุเยอ (Zeebrugge) บรูจส์มีประชากรทั้งสิ้น 117,073 คน ในจำนวนนั้น 20,000 คนอยู่ในศูนย์ประวัติศาสตร์กลางเมือง บริเวณตัวเมืองและปริมณฑลมีเนื้อที่ 616 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรทั้งหมด 255,844 คน ทางตอนเหนือของเมืองมีลำน้ำที่ใช้ในการคมนาคมรอบ ๆ ได้ ทำให้บรูจส์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เวนิสเหนือ”



ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ บรูจส์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เพราะเคยเป็นเมืองท่าและมีความสำคัญในทางศิลปะในยุคจิตรกรรมยุคเนเธอร์แลนด์ตอนต้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 และบรูจส์ก็เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของเมืองประวัติศาสตร์ยุคกลาง ซึ่งยังคงรักษาเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ในช่วงวิวัฒนาการหลายศตวรรษที่ผ่านมา


                                    



รูปแบบศิลปะและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ล้วนถูกสร้างขึ้นในแบบโกธิคยุคดั้งเดิมและยังสามารถรักษาเอาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงทางการพาณิชย์และวัฒนธรรมเมืองหนึ่งของยุโรป บรูจส์ได้พัฒนาสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับส่วนต่าง ๆ ของโลก และมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับงานจิตรกรรมสายพริมิทีฟ เฟลมมิช (school of Flemish Primitive painting)


 

 


แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ทะเลสาบเล็กๆ ย่านใจกลางเมืองที่เรียก ทะเลสาบแห่งความรัก (The lake of love) มีบรรยากาศร่มรื่นชวนฝัน รอบ ๆ สวนสาธารณะค่อนข้างเงียบทำให้ผู้ที่มาเยือนรู้สึกเหมือนได้ออกห่างจากความเร่งรีบและการที่ต้องทำนู่นทำนี่อยู่ตลอด ที่นี้เป็นที่อาศัยของหงส์มันมักจะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ยิ่งทำให้บรรยากาศโรแมนติกมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมากในวันหยุด



ที่มา http://travel.thaiza.com/

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%8A

http://www.thaiwhic.go.th/heritageList.aspx?states=Belgium%20(%E0%BA%C5%E0%  C2%D5%C2%C1)

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย

ประวัติของปินโต


ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า (Montemor-o-velho) ใกล้เมืองกูอิงบรา (Coinbre) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส ปินโตเกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่ออายุประมาณ 10 หรือ 12 ขวบจึงต้องเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ในค.ศ. 1523 ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดียในค.ศ.1538 ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย ปินโตเคยเดินทางไปในเอธิโอเปีย จีน อาณาจักรของชาวตาร์ตาร์ (Tataria) โคชินไชนา สยาม พะโค ญี่ปุ่น และหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในน่านน้ำอินโดนีเซียปัจจุบัน ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค.ศ.1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1583 ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง (กรมวิชาการ, 2531 : 115) ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค.ศ.1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1534-1546) นักประวัติศาสตร์บางคนนำหลักฐานของฝ่ายไทยเข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือในเอกสารของเขาหลายประเด็น และชี้ให้เห็นความคลาดเคลื่อนของศักราชที่เขาอ้างถึง

หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค.ศ.1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อ “การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.ศ1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค.ศ.1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”


คุณค่าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม



บันทึกของปินโตนับเป็นเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งเกี่ยวกับทรัพยากร การทหาร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมายและเรื่องราวในราชสำนักสยามกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และมักจะถูกอ้างอิงเสมอเมื่อกล่าวถึงบทบาททางการทหารของชุมชนโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ค.ศ.1543-1546) เมื่อเกิดศึกระหว่างสยามกับเชียงใหม่ขึ้นใน ค.ศ.1548 (พ.ศ.2091) ปินโต กล่าวว่า “ชาวต่างประเทศทุกๆชาติที่ไปร่วมรบกับกษัตริย์สยามนั้นต่างก็ได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับบำเหน็จรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ความชื่นชมและเกียรติยศชื่อเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้รับอนุญาตให้สร้างโบสถ์เพื่อการปฏิบัติศาสนกิจในแผ่นดินสยามได้....” การเข้าร่วมรบในกองทัพสยามครั้งนั้นเป็นการถูกเกณฑ์ หากไม่เข้าร่วมรบก็จะถูกขับออกไปภายใน 3 วัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวโปรตุเกสถึง 120 คน จากจำนวน 130 คน อาสาเข้าร่วมรบในกองทัพสยาม เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็นศึกเมืองเชียงกรานซึ่งเกิดขึ้นในค.ศ.1538 (พ.ศ.2081) คลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในหลักฐานของปินโต 10 ปี แม้ว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงอ้างจากหนังสือของปินโตก็ตาม เรื่องราวในหนังสือ Pérégrinação สอดคล้องกับงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสหลายคน อาทิ การกล่าวถึง โดมิงกุส ดึ ไซซัส (Domingos de Seisus) ซึ่งเคยถูกจองจำและรับราชการเป็นนายทหารในกรุงศรีอยุธยา (กรมวิชาการ , 2531: 109) ก็ได้รับการยืนยันในงานเขียนของจูอาว เดอ บารอส (João de Baros) เช่นกัน (กรมวิชาการ,2531 : 95) เป็นต้น นอกจากนี้ อี.ดับเบิลยู. ฮัทชินสัน(E.W. Hutchinson) ก็อ้างตามหลักฐานของปินโตว่า “ทหารโปรตุเกสจำนวน 120 คนซึ่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงจ้างเป็นทหารรักษาพระองค์(bodyguards)ได้สอนให้ชาวสยามรู้จักใช้ปืนใหญ่” ดร.เจากิง ดึ กัมปุชชี้ว่า บทบาทของทหารอาสาชาวโปรตุเกสในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชอาจส่งผลให้มีการเริ่มปรับปรุงตำราพิชัยสงครามภายใต้การช่วยเหลือของที่ปรึกษาชาวโปรตุเกส จนเป็นที่มาของการตั้ง “กรมทหารฝารั่งแม่นปืน” ใน หนังสือ“ศักดินาทหารหัวเมือง” ซึ่งประกอบด้วยทหารเชื้อสายโปรตุเกสจำนวน 170 นาย จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใกล้เคียงกับจำนวนของทหารอาสาโปรตุเกส 120 คน ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช

ความน่าเชื่อถือ


หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ (William Congreve, 1670-1729) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” (ค.ศ.1695) เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” (กรมศิลปากร, 2526 : 42 ) เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ( Sir Richard Burton) ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส” ดับเบิลยู. เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ชี้ว่าควรจะอ่านงานเขียนของปินโตในฐานะที่เป็นเรื่องราวของชายชราที่ได้เดินทางกลับไปสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งเพื่อความบันเทิง มิใช่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นวันต่อวัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของปีศักราชในบันทึกชิ้นนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ดึ กัมปุช อดีตกงสุลใหญ่โปรตุเกสเมื่อค.ศ.1936 กลับชี้ว่าหลักฐานของปินโตแสดงให้เห็นว่าเขาเคยเดินทางเข้ามายังสยามจริง (Campos, 1940 : 14-15) และสิ่งที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือในงานของปินโต คือ การยกงานเขียนในชั้นหลังๆมาเทียบเคียงความเป็นไปได้และความถูกต้องของเรื่องราวโดยเฮนรี โคแกน (ดูคำประกาศในฉบับแปลของHenry Cogan,1653 : ไม่มีเลขหน้า) นักประวัติศาสตร์ไทยหลายคนเลือกใช้ข้อมูลของปินโตมาอ้างอิงโดยตลอด อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มานพ ถาวรวัฒน์สกุลในเรื่องขุนนางอยุธยา(2536) อ้างเรื่องยศขุนนางสมัยอยุธยาตอนกลาง สุเนตร ชุตินทรานนท์ในเรื่องบุเรงนองกะยอดินนรธา(2538) ก็อ้างเอกสารของปินโตซึ่งระบุตรงกับราล์ฟ ฟิตซ์ (Ralph Fitch)ว่า พระเจ้าบุเรงนองนำเอาเรื่องการขอช้างเผือกมาเป็นสาเหตุของสงครามระหว่างสยามกับพม่าใน ค.ศ.1569 เป็นต้น
งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล (Campos,1940,P.21) ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) ที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง (recommended letter) จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส (Cogan,1653 : 317) แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขาหนังสือ “ Pérégrinação ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสยามน้อยมาก ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศูนย์กลางของโปรตุเกสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ที่มะละกา ปินโตจึงให้ความสำคัญต่อมะละกามากกว่ากรุงศรีอยุธยา การที่ราชสำนักโปรตุเกสสนใจดินแดนทางใต้ของพม่าและชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจีนก็น่าจะมีผลต่อโครงเรื่องของปินโตเช่นกัน การที่เขามีฐานะเป็นเพียงกลาสีเรือ นักผจญภัย แสวงโชค มิใช่บุตรขุนนางหรือนักการทูต มิใช่พ่อค้าหรือนายทหารที่ถูกส่งเข้ามาติดต่อกับสยามโดยตรง ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือของเขาเน้นกล่าวถึงสถานที่ต่างๆตามชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกที่เขาเคยเดินทางไปถึงมากกว่า


หลักฐานของปินโตกับปัญหาในการศึกษาชุมชนโปรตุเกสสมัยอยุธยา


หากนักเรียนประวัติศาสตร์คนใดจะนำงานเขียนของปินโตมาใช้ในการตรวจสอบเรื่องราวเกี่ยวกับตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส ความสัมพันธ์ของคนภายในค่าย ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับราชสำนักอยุธยา ความสัมพันธ์ระหว่างค่ายโปรตุเกสกับมะละกา กัว มาเก๊า และราชอาณาจักรโปรตุเกส รวมไปถึงอาชีพ จำนวนคนและความเป็นอยู่ในค่ายโปรตุเกสสมัยอยุธยา ก็อาจจะต้องใช้ความพยายามในการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้มากพอสมควร ปินโตระบุว่านักสอนศาสนาก็จำเป็นต้องเผยแพร่ศาสนาภายใต้นโยบายของราชสำนักหรือผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัวเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป เมื่อนักบุญฟรานซิส ซาเวียร์(St. Francis Xavier)จะออกไปเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่น ท่านก็ต้องเดินทางจากมะละกาไปยังกัว เพื่อรับฟังนโยบายของผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งอินเดียเสียก่อน (กรมศิลปากร, 2526 : 35) การที่ปินโตเคยเป็นทูตของข้าหลวงโปรตุเกสแห่งมะละกาไปยังรัฐต่างๆในภูมิภาคแถบนี้ อีกทั้งยังเคยเป็นทหารและนักสอนศาสนาของโปรตุเกสด้วย เขาจึงน่าจะเป็นบุคคลที่มีเกียรติพอที่จะได้รับความเชื่อถือจากผู้มีฐานะเป็นศัตรูชาติโปรตุเกสในยุโรปหรือแม้แต่ชาวโปรตุเกสบางคน แต่เขาก็ไม่เคยถูกนักประวัติศาสตร์โปรตุเกส อาทิ ดูอาร์ตึ บาร์บูซา(Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส(João de Baros )และคาสปาร์ คอร์รีอา(Caspar Correa)เสียดสีเลยแม้แต่น้อย การกล่าวว่ากองทัพพม่านำกระบือและแรดมาลากปืนใหญ่เพื่อทำสงครามกับสยามในฉบับแปลของโคแกน ทำให้วูด(Wood)ชี้ว่างานเขียนของปินโต “เป็นหลักฐานเชิงจินตนาการ” ข้อเสนอของวูดอาจทำให้นักเรียนประวัติศาสตร์เห็นคล้อยไปกับคอนเกรฟที่ระบุว่า ปินโตเป็นคนขี้ปด โชคดีที่ ดร. เจากิง ดึ กัมปุชแย้งว่า ปินโตไม่เคยระบุคำว่า “แรด” ในงานเขียน คำศัพท์ที่เขาใช้ คือ คำว่า “bada หรือ abada”นั้น ในคริสต์ศตวรรษที่16 หมายถึง สัตว์ป่า หรือ สัตว์เลี้ยงที่กลายเป็นสัตว์ป่า แม้ว่าจะมีนักเขียนบางคน เช่น บาทหลวง กาสปาร์ ดึ ครูซ (Fr. Gaspar de Cruz) จะใช้คำดังกล่าวเรียกแรดก็ตาม ส่วนบาร์โบซา (Duarte Barbosa) จูอาว ดึ บารอส (João de Baros ) และ คาสปาร์ คอร์รีอา (Caspar Correa) ต่างก็ใช้คำว่า “ganda” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตเมื่อกล่าวถึงแรด ขณะที่นักรวบรวมพจนานุกรม ชื่อ บลูโต (Bluteau, 1727) แปลคำว่า “abada คือ สัตว์ป่าชนิดหนึ่ง” ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญในการโต้แย้งประเด็นที่มีการแปล “abada” ว่า “แรด” (Campos, 1959 : 228) แม้ในภาษามาเลย์จะมีคำว่า “badâk” แปลว่า “แรด” แต่ในภาษาอาหรับก็มีคำว่า “abadat” หมายถึง “สัตว์ที่มีรูปร่างเป็นสีน้ำตาล” หรือ “สัตว์ป่า” หรือ “สัตว์เลี้ยงที่หลบหนีไปจนกลายเป็นสัตว์ป่า” ดึ กัมปุช ระบุว่า คำว่า “abada” ถูกแปลว่า “แรด” ในคริสต์ศตวรรษที่17 ดังนั้น “abada” ในบันทึกของปินโตจึงถูก ฟิกูอิเยร์และโคแกนแปลว่า “แรด” ในเวลาต่อมา ปินโตจะใช้คำว่า “abada” เมื่อกล่าวถึง “จามรี(yaks)” ซึ่งเป็นสัตว์ต่าง (beast of burden) ในตาตาเรีย (Tataria) เพราะไม่มีศัพท์ดังกล่าวในภาษาโปรตุเกส และใช้คำภาษาอาหรับว่า “abida” ในที่อื่นๆอีกร่วม12ครั้งเมื่อกล่าวถึงสัตว์ใหญ่คล้ายแรดหรือสัตว์ต่างชนิดอื่นซึ่งไม่อาจหาคำมาใช้แทนได้


ความคิดเห็น
 
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าบทความของปินโตเป็นบันทึกที่อ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ของไทยมากกว่านิยายภจญภัย เพราะมีการพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแผ่นดินสยามเมื่อครั้งรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
มีการกล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งทางด้านการทหาร ศาสนนา รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสยามและโปรตุเกส

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

The first ㅋㅋ

อ่า~ การทักทายครั้งแรกกับบล็อคของตัวเอง ㅋㅋ

อีกไม่นานมันจะดีกว่านี้แน่นอนนนน

บุ๊ยบุย. . .